วช. มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่น ปี 65 เชิดชู “ศ.ณรงค์ ใจหาญ” ผู้อยู่เบื้องหลังก้าวสำคัญของการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและกฎหมายไทย
วช. มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่น ปี 65 เชิดชู “ศ.ณรงค์ ใจหาญ” ผู้อยู่เบื้องหลังก้าวสำคัญของการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและกฎหมายไทย
วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน NRCT Talk เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ครั้งที่ 5 เชิดชูนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 “ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ” นักวิจัย มธ. ผู้โดดเด่นด้านนิติศาสตร์ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 5” จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลให้กับ ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ประจำปี 2565 ซึ่งศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อุทิศตนเพื่อศึกษาวิจัยด้านนิติศาสตร์ โดยเน้นศึกษาด้านกฎหมายอาญา กระบวนการยุติธรรมทางอาญา สิทธิมนุษยชน และกฎหมายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ ได้สร้างองค์ความรู้ทางวิชาการในด้านกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนำไปพัฒนากฎหมาย เป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้ สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและความจำเป็นของประเทศ จากการทำงานที่ทุ่มเทและอุทิศตนเพื่อวงวิชาการกฎหมายของไทย ท่านจึงได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565
ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ กล่าวว่า งานวิจัยที่ผมได้รับการเสนอเพื่อเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาตินั้น
มีทั้งหมด 3 ชิ้น จะเน้นหนักที่ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 1. เป็นการนำเสนอรูปแบบของการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในศาลยุติธรรม 2. เป็นเรื่องการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนของประชาคมอาเซียน และ 3. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เรื่องของการช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญาในประเทศไทยและในอาเซียน งานส่วนใหญ่ของผมก็จะเป็นงานวิจัยเชิงนิติศาสตร์ที่มีข้อเสนอการแก้ไขกฎหมาย ผลของการศึกษาออกมาในรูปของการยกร่างกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายเดิมให้สอดคล้องบริบทสังคม ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปเสนอกฎหมายให้เป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายของผลงานทั้ง 3 ชิ้นนั้น หรืองานวิจัยอื่น ๆ ข้อสำคัญก็คือต้องตอบโจทย์ประโยชน์ส่วนรวมของสังคมไทย เป็นหลักเกณฑ์ที่สร้างความสงบสุขให้กับสังคมไทย รวมทั้งการยกระดับให้ไทยเรามีบทบาทต่าง ๆ ในระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นงานวิจัยที่ผมพยายามทำอยู่ตลอดเวลาประมาณ 30 ปี เมื่อผมทำขึ้นมาแล้วจะต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนในประเทศ และบทบาทของไทยในระดับโลกได้ เราเป็นประเทศเล็ก แต่ในแง่ของภารกิจ เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของการดำเนินคดีอาญา ประเทศไทยก็ใช้โมเดลที่เป็นมาตรฐานสากล ฉะนั้น พอผมศึกษา concept เหล่านี้แล้ว การที่ผมได้รับโอกาสที่จะเสนอการแก้ไขกฎหมายหรือปรับปรุงระบบกฎหมายเหล่านี้ให้ดี ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นที่น่าชื่นชมในสายตาของประชาคมโลกว่ามีความก้าวหน้าในกฎหมายระดับสากล
“สูตรสำเร็จของการทำวิจัยไม่ได้อยู่ที่คนทำวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญ
4 ประการ คือ 1. โครงการวิจัย 2. ทีมงานวิจัย 3. ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ และ 4. ทีมงานของหน่วยงานที่ให้ทุน
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะทำให้งานวิจัยประสบความสำเร็จ” ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” ในครั้งนี้ จัดเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น: