วช. ชูนักวิจัย มก. ผู้คิดค้นทรัพยากรชีวภาพสัตว์และจีโนมิกส์ของสัตว์ รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ “สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา” ปี 66
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
จัดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 5 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้วิชาการและประเทศชาติ ซึ่งในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก “รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2566 (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา)
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก) และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งกิจกรรมเปิดบ้านในวันนี้ได้รับเกียรติจากนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติท่านที่ 5 คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ แห่งหน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา) ที่มีความเชี่ยวชาญงานวิจัยเพื่อค้นหาการเปรียบเทียบจีโนมและระบบการกำหนดเพศของสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ทำให้เข้าใจระบบและกลไกการกำหนดเพศกลไกวิวัฒนาการ และสามารถนำไปวางแผนการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ อีกทั้งเชี่ยวชาญงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ของสัตว์ป่าและปศุสัตว์ ด้วยการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรม และประเมินโครงสร้างประชากรของสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในธรรมชาติ และในสถานีแหล่งเพาะ พัฒนาฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมและลายพิมพ์ดีเอ็นเอของสัตว์ป่ากลุ่มต่าง ๆ โดยมีเครื่องมือประเมินความหลากหลายพันธุกรรมที่เป็นมาตรฐาน
รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ แห่ง หน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ กล่าวว่า มีความสนใจศึกษาเรื่องจีโนมิกส์ตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเห็นเรื่องพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น เป็นตัวควบคุมและกำหนดสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และการที่ศึกษาภาพรวมพันธุกรรมทำให้มองเห็นว่าพันธุ์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ได้ จนส่งผลต่อเนื่องเกิดการกินดีอยู่ดีของของชุมชน
“หนึ่งในความภาคภูมิใจที่ผมทำร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ วช. ผู้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในเบื้องต้น คือการขยายพันธุ์กวางผา โดยเริ่มต้นศึกษาพันธุกรรมกวางผาในแหล่งเพาะพันธุ์ วางแผนผสมพันธุ์ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพันธุ์พืชได้ปล่อยสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้กำลังติดตามผลการอยู่รอดในธรรมชาติอย่างไร ซึ่ง 200 ตัวที่มีอยู่ในธรรมชาติจะเข้าไปผสมพันธุกันแบบธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการเก็บอุจจาระของกวางผาในธรรมชาติมาศึกษา และนำมาประเมินค่าความเหมือนหรือความต่างของความต้องการในแหล่งเพาะพันธุ์ เพื่อปล่อยกวางผา ไปสู่แหล่งธรรมชาติที่เหมาะสม จำนวน 11 แห่งทั่วประเทศ ส่วนเรื่องการเพาะเลี้ยงหรือการติดตามทางอุทยานเขาก็ทำงานได้ดีมากอยู่แล้ว และอีก 1 งานวิจัยที่กำลังศึกษาคือเรื่องของปลาดุก จากปั
ญหาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาดุก ยิ่งเลี้ยงมากยิ่งต้องขยายพื้นที่เยอะในการเลี้ยงมาก แต่ผลผลิตกลับลดลง โดยพบว่าเกิดจากปัญหาของพันธุ์กรรมและระบบเลี้ยง งานวิจัยจึงเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอของพันธุกรรมของปลาดุกที่เอามาใช้เป็นประชากรตั้งต้น เพื่อที่จะผสมพันธุ์และทำให้รักษาคุณภาพของพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาอาหารเกี่ยวกับไก่พื้นเมือง เพื่อมาเป็นโปรตีนทางเลือกให้กับชุมชน ทั้งชุมชนเปราะบาง ชุมชนที่อยู่ในที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ให้เขาสามารถเดินด้วยตัวเองจากการเลี้ยงไก่ที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีน จึงอยากสนับสนุนให้ทุกบ้านเลี้ยงไก่และจะพยายามส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ของไก่พื้นเมืองต่อไป”
การจัดงาน NRCT Talk จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้เป็นนำเสนอในประเด็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยหลากหลายสาขา ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัยยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการต่อสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโลกแห่งอนาคต สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น: