เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีเสวนา เรื่อง “มนุษยศาสตร์การแพทย์ : มุมมองใหม่สำหรับโอกาสและความท้าทายในอนาคต ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา ราชบัณฑิตยสภา รศ.นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
รศ.ดร. สมถวิล ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดร.นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยมี ศ.นพ. สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ ในการนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. ได้มอบหมายให้ คุณวราภรณ์ สุชัยชิต หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข วช. กล่าวต้อนรับศ.นพ. สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณมนุษย์สร้างความรู้ขึ้นมาโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง แต่เมื่อถึงยุคฟื้นฟูวิทยาการ (Renaissance) เริ่มมีการศึกษาเชิงลึกทั้งด้านฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ในทางการแพทย์จากเดิมที่เคยศึกษาเรื่องกายวิภาคศาสตร์โดยใช้อาจารย์ใหญ่ ก็เริ่มมาศึกษาเรื่องไมโครไบโอโลยี ศึกษาจุลชีพที่มองไม่เห็น แต่เมื่อมาเจอกับคนไข้ปรากฏว่าสิ่งที่เรียนมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบันได้ จึงเห็นถึงความจำเป็นของการเรียนและแก้ปัญหาแบบข้ามศาสตร์ เช่น วิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นการเรียนและแก้ปัญหาโดยใช้สองศาสตร์มารวมกัน การเสวนาในวันนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และศิลปะว่าจะรวมกันได้อย่างไร ทำไมจะต้องมีศาสตร์นี้ ขอบเขตของแต่ละศาสตร์เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หรือไม่
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา ราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า ในความเป็นจริงมนุษยศาสตร์และการแพทย์ก็ถูกนำมาใช้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพและใจ ซึ่งเราจะพบได้ในบางคำที่เกิดขึ้น เช่น ศิลปะบำบัด โดยเฉพาะในสายนาฏศิลป์ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น
ที่สหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้การละเล่นลาวกระทบไม้เพื่อบำบัดผู้ป่วยพาร์คินสัน 8 ราย ซึ่งเป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ และมีวิทยานิพนธ์ในทำนองนี้อีกหลายเรื่อง เช่น ใช้การเต้นโขน เพื่อช่วยเสริมกล้ามเนื้อที่เป็นคู่ขนานกับกระดูกสันหลังให้แข็งแรง การใช้รำวงมาตรฐานเพื่อแก้ปัญหานิ้วล็อค การเกิดขึ้นของกลุ่มหมอออนไลน์ ซึ่งเป็นการนำความรู้ทางด้านการแพทย์ไปประยุกต์ใช้ในสายมนุษยศาสตร์ ในฐานะที่เป็นคนไข้เมื่อไปหาหมอที่โรงพยาบาล ก็จะพบความเกี่ยวโยงระหว่างแพทยศาสตร์กับมนุษยศาสตร์ในหลายๆ เรื่อง เช่น เมื่อคนไข้ไปพบหมอเพื่อรับการรักษาในแต่ละขั้นตอนกว่าจะได้รับการรักษามันเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ซึ่งบางครั้งต่างฝ่ายต่างก็มีอารมณ์ การปฏิบัติตัวของคนไข้กับแนวทางมาตรฐานในสายตาของหมอ การออกแบบสถานพยาบาลบางครั้งไม่ได้อำนวยความสะดวกให้คนไข้ การไม่มีคู่มือเพื่อเตรียมตัวในการพบแพทย์เพราะบางครั้งคนไข้ไม่รู้ว่าควรจะเตรียมอะไรบ้าง ประเด็นเหล่านี้มันทำให้เกิดวิกฤตการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายต้องใจเย็นและค่อยๆ พูดกัน
รศ.นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า มีบรรยากาศของความกลัวระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะบางครั้งคนไข้ไม่สามารถปฏิบัติตัวได้ตามที่หมอแนะนำ ส่วนหมอเมื่อเห็นผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็อาจจะดุใส่คนไข้ โดยที่ไม่รู้ว่าวิถีชีวิตของเขาเป็นอย่างไร มีสังคม วัฒนธรรมอย่างไร มีระดับเศรษฐกิจอย่างไรที่ทำให้เขาไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานทางการแพทย์ได้ มันจึงเกิดเป็นความทุกข์บีบคั้นทั้งคนไข้และหมอ ในช่วงโควิดที่ผ่านมามันทำให้เห็นว่า ภูมิคุ้มกันทางใจเรามีน้อยมาก เพราะเมื่อเรามีความกลัว ความกังวล มันก็อาจจะเกิดปัญหาได้ เป็นหมอบางทีก็มีอารมณ์แบบของขึ้น เพราะคุยกับคนไข้ไม่รู้เรื่อง บางครั้งก็อยากตอบโต้ เราควรส่งเสริมให้มีการฝึกฝนสังเกตความคิดของตัวเอง เพราะเป็นเบื้องต้นของการเกิดสติ ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ มีความใคร่ครวญ สามารถปล่อยวางและจัดการกับภาวะบีบคั้นในใจของเราได้ เราจะเข้าใจมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้าเรา จิตใจมั่นคง ภูมิคุ้มกันทางใจก็ดีขึ้น ในต่างประเทศมีการนำศิลปะแขนงต่างๆ มาเชื่อมโยงกับการเรียนด้านการแพทย์ เช่น การใคร่ครวญ การสืบค้น การสังเกตเข้ามาข้างใน เพื่อให้เห็นว่าคนไข้แต่ละคนมีเรื่องราวที่แตกต่างกัน
รศ.ดร. สมถวิล ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า หมอเองก็มีปัญหาทางใจเหมือนกับคนไข้ ในระยะหลังๆ จึงมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนนักเรียนแพทย์ มีการนำมนุษยศาสตร์กับการแพทย์มารวมกัน ปรับหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนแพทย์ศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์การแพทย์ (Humanities Medical) สำหรับคนที่จะไปทำงานในสถานพยาบาล ซึ่งนอกจากมีจุดมุ่งหมายด้านสุขภาพแล้วยังพยายามทำให้แพทย์ไม่หมดไฟในการทำงานไปก่อน สาขาการเรียนที่เกี่ยวข้องได้แก่ Narrative medicine เป็นการใช้เทคนิคด้านการเล่าเรื่องราว การฟังและการซึมซับประสบการณ์ และการรับรู้และชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกัน ฝึกให้แพทย์ได้พูดและฟังคนไข้ ในบางครั้งก็จะมีเรื่องสังคมวิทยา ปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม หลังจากมีการผสมผสานหลักสูตรดังกล่าว ปรากฏว่าแพทย์ที่มีพื้นฐานด้าน Humanity และ Sociology มีความสามารถในการสื่อสารกับคนไข้ได้ดีกว่าพวกที่ไม่มีพื้นฐาน
ดร.นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ถ้าเราอยากสร้างแพทย์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ เราต้องนำมนุษยศาสตร์การแพทย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ถ้าเราจะเอาแนวคิดนี้ไปบูรณาการทางด้านการแพทย์ สิ่งที่เราจะต้องทำคือ 1) ขยายกรอบแนวคิดเรื่องสุขภาพและการเรียนรู้ระบสุขภาพ 2) ดูแลรักษาทั้งโรค ความเจ็บป่วย และความทุกข์ (ปัจเจกและสังคม) 3) เรียนรู้จากเรื่องเล่าและเรื่องราวชีวิตของเพื่อนมนุษย์และคนทุกข์ยาก 4) เรียนรู้ประวัติศาสตร์และปรัชญา เพื่อเข้าใจปัญหาในหลายมิติ 5) ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อหล่อหลอมวิธีคิดและสร้างสรรค์อุดมคติของชีวิต 6) เรียนรู้และปลูกฝังความละเอียดอ่อนด้านสุุนทรียภาพและความงาม 7) ปรับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต 8) สร้างระบบบริการทางการแพทย์ที่ใส่ใจในมิติความเป็นมนุษย์ ถ้า วช. มีแผนงานวิจัยด้านนี้มันจะเป็นสิ่งมหัศจจรย์ที่มันจะเกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่องศิลปะบำบัด เอาการแพทย์มาเป็นศิลปะเพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์ในสังคม
ไม่มีความคิดเห็น: