พัฒนานโยบายที่ใช้ข้อมูลเป็นฐาน แก้ปัญหาเชิงระบบอย่างยั่งยืน
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กสศ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา ฯ ใน กทม. ด้าน ผู้ว่าชัชชาติ ฯ รับให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาไม่น้อยกว่าโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนด้านการศึกษาผลตอบแทนสูงสุด เร่งเครื่องเดินหน้าพันธสัญญาสู่ความเสมอภาคในสังคมร่วมกับ กสศ. เพื่อเด็กทุกคนเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางการศึกษา ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา 20 ปีไร้รอยต่อ ชูพัฒนานวัตกรรมและการพัฒนานโยบายที่ใช้ข้อมูลเป็นฐาน แก้ปัญหาเชิงระบบอย่างยั่งยืนสู่เมืองต้นแบบแห่งความเสมอภาคทางการศึกษา
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ห้องประชุมเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการดำเนินการพัฒนาหลักประกันเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่า กทม. และผู้บริหารสำนักการศึกษา กทม. เข้าร่วมพร้อมด้วย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. และนางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาที่ กทม. ยึดถือเป็นหลักการทำงาน คือ ‘การศึกษาทางเลือก และแนวทางสนับสนุนเด็กที่หลุดจากระบบ’ ซึ่งเป็นนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและป้องกันนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา ในงานดูแลด้านการศึกษา กทม. มีโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นระดับประถมศึกษา ซึ่งอยู่ในช่วงวัยสำคัญของพัฒนาการ หากปล่อยให้เด็กหลุดจากระบบแล้ว โอกาสจะนำกลับมาทำได้ยาก และไม่ใช่เพียงเด็กชั้นประถม แต่การจัดการดูแลต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะถ้าเด็กได้รับการดูแลไม่ดีในแต่ละช่วงพัฒนาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะต่อเนื่องไปจนถึงการเรียนต่อระดับสูงในอนาคต
“กทม. ต้องดูแลด้านการศึกษาให้มีคุณภาพเช่นเดียวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ๆ โดยมี social contract หรือ พันธสัญญาทางสังคม เป็นสัญญาที่มีต่อประชาชนว่าเราจะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิทางการศึกษา และความเท่าเทียมด้านสาธารณสุข ทั้งนี้การลงทุนที่ลงไปยังเด็กและครอบครัวของเขาในวันนี้ จะเป็นสิ่งที่ตอบแทนคืนกลับมาสู่เมือง (Return investment) สู่ประเทศในอนาคต เพราะถ้าเด็กสามารถไปถึงการพัฒนาได้เต็มศักยภาพ เขาจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นฐานภาษีของเมือง และดูแลคนอื่น ๆ ต่อไป การลงทุนด้านการศึกษาจึงนับว่ามีมูลค่าตอบแทนสูงที่สุด โดยอาจไม่ใช่เรื่องตัวเงิน แต่หมายถึงการไปสู่เป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในเกือบทุกครัวเรือน ทำให้นักเรียนบางส่วนต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษา ขณะที่นโยบายดังกล่าว จะช่วยให้นักเรียนได้กลับเข้ามารับการศึกษาในโรงเรียนอีกครั้ง โดยหากนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ประสงค์กลับมาเรียนยังโรงเรียนเดิม กทม. จะสนับสนุนการกลับมาเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามนโยบาย ‘เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม’ เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาส ในครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงมาก
ในปีการศึกษา 2565 กทม. ได้ร่วมกับ กสศ. ทำการคัดกรองนักเรียนในสังกัดที่มีความยากจนพิเศษ โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ได้ทั้งหมดจำนวน 6,159 คน เพื่อรับทุนสนับสนุนการศึกษา และจะดำเนินการต่อเนื่องไปในทุกปีการศึกษา อีกทั้งจะมีการร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการการคัดกรองความยากจน รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในกลุ่มเปราะบาง โดย กทม. ยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ กสศ. เพื่อร่วมมือกันลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวมไปถึงการส่งเสริมด้านอาชีพ การวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพครู และคุณภาพโรงเรียนในสังกัด กทม. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง กสศ. และ กทม. ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามเจตนารมย์ของการจัดตั้ง กสศ. ในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ให้ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาอย่างเสมอภาคและทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ กสศ. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความยั่งยืน โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีระยะเวลา 3 ปี มีวัตถุประสงค์สำคัญ 5 ประการได้แก่
1. สนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข และระบบการติดตามของสถานศึกษาสังกัด กทม. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และให้การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ที่สอดคล้องกับความถนัดและพัฒนาตนเองตามศักยภาพเป็นรายบุคคล
2. ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ หรือด้อยโอกาสให้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ
3.สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาครู และสถานศึกษาสังกัด กทม. ที่สอดคล้องกับความต้องการและส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของนักเรียน
4.บูรณาการฐานข้อมูลการความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
5.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออื่นใดที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือ ส่งเสริมนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ และด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูของสถานศึกษาสังกัด กทม.
“ภายใต้ความร่วมมือนี้ กสศ. และ กทม. จะร่วมกับสำนักการศึกษา สำนักงานเขต และสถานศึกษาสังกัด กทม. ในการร่วมกันวิจัยพัฒนานวัตกรรมต้นแบบระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนในสถานศึกษาสังกัด กทม. ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของ กทม. และ กสศ. รวมทั้งจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือและส่งต่อโอกาสสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ และด้อยโอกาสทั้งในและนอกระบบการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับ และได้รับการศึกษาหรือพัฒนา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัด และสามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิต รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์และวิกฤตต่าง ๆ เป็นต้น”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. จะสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำแก่กลุ่มเป้าหมายใน กทม.
3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด กทม. จะสนับสนุนเครื่องมือการคัดกรองข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ และเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคในสถานศึกษาสังกัด กทม. ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนของ กสศ.
เด็กเยาวชนวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่ กทม. จะสนับสนุนกลไกการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัด กทม. ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนของ กสศ. เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติทางการศึกษา หรือได้รับการศึกษาตามศักยภาพหรือบริบทของตนเองต่อไป
ครู และสถานศึกษาสังกัด กทม. จะสนับสนุนการพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาในสถานศึกษาต้นแบบ สังกัด กทม. ทั้ง 50 เขต เพื่อสนับสนุนการขยายผลยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาสังกัด กทม. นอกจากนี้ กสศ. และองค์กรภาคีทั้งในและต่างประเทศ จะร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ นวัตกรรมการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การติดตามผลการดำเนินงานตามความร่วมมือนี้ รวมทั้งการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และ กทม. เกิดขึ้นในห้วงเวลาสำคัญของระบบการศึกษาท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ กสศ. พบว่าค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2 เท่า และเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กจากครัวเรือนยากจน 10% ล่างสุดของ กทม. กับครัวเรือนที่ร่ำรวย 10% บนสุด พบว่ามีช่องว่างห่างกันถึง 12 เท่า
“การคัดกรองนักเรียนในเทอม 1 ปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมา พบว่านักเรียนในสถานศึกษาสังกัด กทม. อยู่ในสถานะยากจนพิเศษ คิดเป็น 15% นักเรียนเหล่านี้อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนเพียง 1,551 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน”
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวต่อไปว่า การทำงานบนโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
การมอบทุนถือเป็นการแก้โจทย์เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในการสนับสนุนช่วยเหลือเด็กเยาวชนให้ไปต่อได้บนเส้นทางการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย ดังเช่นภูมิปัญญาของชาวแอฟริกาที่ว่า
It takes a village to raise a child แปลง่าย ๆ คือการเลี้ยงดูเด็กต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน ที่ผ่านมา กสศ.
ได้นำแนวทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-Based Education: ABE) มาใช้เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาควิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการใช้ ‘ข้อมูลเป็นฐาน’ เพื่อสนับสนุนการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ประเด็นสำคัญของการทำงาน ABE คือการย่อขนาดของปัญหาการศึกษาจากระดับประเทศลงมาสู่ระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมโอกาสการทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนมากขึ้น ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะทำให้ กทม. สามารถเป็นต้นแบบแก่จังหวัดหรือเมืองต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติในอนาคตอันใกล้
“ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่ กสศ. จะทำงานร่วมกับ กทม. จะช่วยส่งต่อนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษาเป็นระยะเวลา 20 ปีอย่างไร้รอยต่อ และในอนาคตอันใกล้ ระบบการศึกษาของ กทม. จะช่วยให้เด็กเยาวชนจากทุกครอบครัว มีสิทธิ และบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาสูงสุดตามฝันอย่างเสมอภาค มิใช่เพียงเป็นของเด็กคนใดคนหนึ่ง แต่คือเป้าหมายของเมืองและเป้าหมายของประเทศ ที่ระบบการศึกษาจะเป็นหลักประกันให้ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมของเขาและครอบครัว จนสามารถยุติวงจรความยากจนที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นให้สิ้นสุดลงได้ ใน 1 ชั่วอายุคน”
ทั้งนี้ กสศ. ได้พัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ที่เชื่อมต่อฐานข้อมูลนักเรียนและสถานศึกษาในสังกัด กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนมาตรการการคุ้มครองทางสังคม 5 ด้าน ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางอาหาร 2.ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว 3.ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียน 4.ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู และ 5.ความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น ในการสนับสนุนสถานศึกษา และสถาบันครอบครัวทั้งในด้านทรัพยากรและการสนับสนุนการดำเนินการด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ กสศ. และ กทม. จะร่วมกันทำงานสนับสนุน ‘ครู’ โดยทำงานร่วมกับสำนักการศึกษา กทม. เพื่อนำนวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ หรือ TSQP มาทำวิจัยต่อยอดองค์ความรู้กับโรงเรียนนำร่องในสังกัด กทม. 50 เขต เพื่อให้เห็นทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนเมือง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาครูและโรงเรียนในสังกัด กทม. การลงนามร่วมกันครั้งนี้จะเป็นการปักหมุดการพัฒนานวัตกรรมและการพัฒนานโยบายที่ใช้ข้อมูลเป็นฐาน (Evidence-based) ที่แก้ปัญหาเชิงระบบได้อย่างยั่งยืน และนำไปสู่การเป็นเมืองต้นแบบแห่งความเสมอภาคทางการศึกษา
/////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น: