วช. จับมือกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มุ่งสู่การเป็น Wellness Hub กระตุ้นเศรษฐกิจสุขภาพวิถีใหม่
วันที่ 26 กันยายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะเวลเนสทางการแพทย์รองรับการเป็นศูนย์กลางบริการเวลเนสของโลก โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมลงนาม เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะเวลเนสทางการแพทย์ของประเทศไทยให้เกิดขึ้น ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง วช. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะเวลเนสทางการแพทย์
ของประเทศไทยให้เกิดขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเป็น
เป็นนโยบายสาธารณะที่รัฐบาล ภาครัฐบาลและภาคเอกชน ภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างให้ความสนใจและตื่นตัวกับโอกาสในการพัฒนาของอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและบริการสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องมีการผลิตและพัฒนาบุคลากรบริการเฉพาะทางที่เป็นแรงงานทักษะสูง (high-skilled labor) มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทางที่เต็มเปี่ยมไปด้วยหัวใจบริการ สามารถสื่อสารเชิงลึกด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ วช. ในฐานะหน่วยบริหารทุน ได้มีสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ด้านการแพทย์และสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการวิจัยให้สอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนาประเทศ และหนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือนโยบายพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และเวลเนส โดยเน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะเวลเนสทางการแพทย์เพื่อสร้างการเรียนรู้มุ่งสู่การเป็น Wellness Hub ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะด้านเวลเนส ที่มีขอบข่ายการเรียนรู้ที่ครอบคลุมมิติการดูแลสุขภาพทั้ง 4 มิติ ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ ที่จะบูรณาการไปสู่การดูแลสุขภาพองค์รวมตามหลักการของเวลเนส และครอบคลุมองค์ความรู้ทุกกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจเวลเนส (Wellness Economy) รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศธุรกิจสุขภาพการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมบริการ วิทยาศาสตร์เวลเนส มาตรฐานตามกฎหมายหลักและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสุขภาพเชิงบูรณาการที่มีระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
รวมทั้งการรับรองคุณภาพมาตรฐานบริการเวลเนสที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็น Global Wellness Hub ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน อันจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถของทรัพยากรบุคคลในระบบเศรษฐกิจฐานเวลเนส เพื่อไปสู่การเป็นผู้นำด้าน Wellness Hub ของประเทศไทยต่อไป
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหลักสูตรเวลเนสแห่งชาติในครั้งนี้ เกิดจาก
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีโอกาสร่วมงานกับ วช. มาหลายครั้งผ่านการจัดทำโครงการวิจัย ซึ่งบุคลากรของกรมได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เพื่อการพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาระบบสนับสนุนบริการสุขภาพของประเทศไทย และยังคงมุ่งมั่นต่อไปที่จะพัฒนาความร่วมมือกับ วช. อย่างต่อเนื่อง ในโอกาสที่ทั้งสองหน่วยงานได้มาร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหลักสูตรเวลเนสแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นวิสัยทัศน์ของการพัฒนาโอกาสในการเป็น Wellness Hub ของประเทศไทย ขอบคุณ วช. ที่ได้เล็งเห็นโอกาสและให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ความสำเร็จจากความร่วมมือและการขับเคลื่อนพัฒนาโดยนักวิจัยจากหลากหลายสถาบันร่วมกันจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิชาการและองค์ความรู้ด้านเวลเนสที่เป็นแบบแผนส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ต่อยอดการให้บริการสุขภาพที่ปลอดภัยประทับใจผู้ใช้บริการจากทั่วทุกมุมโลก อันจะเป็นการส่งเสริมการเป็น Global Wellness Hub ของประเทศไทยอย่างแท้จริงภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานโครงการวิจัยต่าง ๆ อาทิเช่น การพัฒนามาตรฐานบริการเวลเนสเพื่อส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศไทย,การส่งเสริมพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ กัมพูชา ลาวและเมียนมาร์ในประเทศไทยผ่านนวัตกรรมการสื่อสารสุขภาพดิจิทัลแรงงานข้ามชาติ,การอนุรักษ์ภูมิปัญญาในธุรกิจนวดไทย, หลักสูตรการนวดไทยและสปาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาอาชีพ,Kiosk : คลินิกบริการครบวงจรด้านสุขภาพ,แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เพื่อการป้องกันโรคเบาหวาน เป็นต้น
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า จากวิกฤติการณ์โควิด 19 ที่ปรับเปลี่ยนวิถีการดูแลสุขภาพของผู้คนและสร้างโอกาสสำคัญทางธุรกิจ ทำให้เวลเนสกลายเป็นอุตสาหกรรมสุขภาพศักยภาพสูงที่เติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศไทย ที่ผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) มีโอกาสสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่อาจเพิ่มสูงได้ 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และด้วยต้นทุนที่ดีเลิศทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย จึงสร้างแรงดึงดูดให้แก่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือร่วมลงทุน อีกทั้งยังช่วยต่อยอดให้ธุรกิจอื่น ๆ พัฒนาไปเพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมสุขภาวะของประเทศไทยไปพร้อมกัน
ไม่มีความคิดเห็น: