วช. ร่วมกับ จังหวัดชุมพร ผลักดันพืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ พร้อมจับมือ 6 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เดินหน้ายกระดับการผลิตและแปรรูปอย่างครบวงจร
Labels:
ข่าว
วันที่ 6 กันยายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ จังหวัดชุมพร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เกษตรศิวิไลซ์ จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การส่งเสริมและยกระดับการผลิตกระท่อมสู่พืชเศรษฐกิจอย่างครบวงจร” เพื่อให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดย นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายพีระ กาญจนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 8 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผศ.ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร กรมส่งเสริมการเกษตร นายสมชาย มณีโชติ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน กรมวิชาการเกษตร ดร.ตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) และนายพีรธัช สุขพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกษตรศิวิไลซ์ จำกัด ร่วมลงนามฯ โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชนร่วมในพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดชุมพร
นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพร มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ วช. และ ม.อ. เล็งเห็นถึงศักยภาพที่เหมาะสมในการปลูกพืชกระท่อม ซึ่งหากมีการ
ส่งเสริมการปลูกและใช้ประโยชน์ของพืชกระท่อมอย่างต่อเนื่อง คาดว่าพืชกระท่อมจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่สร้างรายได้ให้แก่
เกษตรกรในจังหวัดชุมพร สอดคล้องกับจุดประสงค์ของรัฐบาลที่จะผลักดัน
ให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย และช่วยเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ด้านการปลูกพืชกระท่อม การดูแล
รักษา มาตรฐานพืชกระท่อม การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โอกาสกระท่อมไทยในตลาดโลก นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับพืชกระท่อม ตลอดจนการแปรรูป ซึ่งจะทำให้ผลผลิตพืชกระท่อมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการนำสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามามีบทบาทร่วมกันเพื่อวิจัย ส่งเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการผลิตพืชกระท่อม จังหวัดชุมพรยินดียิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญ และเลือกพื้นที่อำเภอเมืองชุมพร อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพรเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำของอุตสาหกรรมพืชกระท่อมที่มีคุณภาพ มีการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อให้ พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจ ตัวใหม่ที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกร และส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับประเทศได้ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ส่งเสริมสนับสนุนในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยเสริมประสิทธิภาพ ในมิติระบบการทำงานต่างๆ ซึ่งทาง วช. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เพื่อดำเนินโครงการเรื่อง “การประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากพืชกระท่อมเพื่อสุขภาพ” โดยเน้นทางด้านสุขภาพ ด้านความเชื่อมั่น และองค์ความรู้ เพื่อให้เห็นคุณประโยชน์ ทั้งนี้ วช. มอบให้ ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ม.อ. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดองค์ความรู้ด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดพืชกระท่อม และใช้เป็นฐานข้อมูลในการผลักดันพืชกระท่อมที่มีมาตรฐาน รวมทั้งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีไปสู่ชุมชนและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้ ในปี 2565 วช. ได้สนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องเพื่อดำเนินโครงการเรื่อง “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากพืชกระท่อมเพื่อสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” โดยมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนการต่อยอด และขยายผล องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้จริงและเกิดประโยชน์โดยตรงกับชุมชนในการพัฒนายกระดับกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาด เกิดผลสัมฤทธิ์ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่เป้าหมายอย่างยั่งยืน ตลอดจนผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อไป
“เรื่องของการยกระดับ การวางมาตรฐาน สิ่งต่างๆ ในการสร้างตลาด สิ่งเหล่านี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์สำคัญ 5 เรื่อง มีการฉายให้เห็นเศรษฐกิจ 5 ด้าน ในเรื่องของแผนการเกษตร เน้นในเรื่องการสร้างมูลค่าและความปลอดภัย ยังมองไปถึงการสร้างมูลค่าเมืองท่องเที่ยวและเมืองน่าอยู่ คนสังคมคุณภาพ สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงในมิติการทำงานของเรื่องพืชกระท่อม” ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าว
ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากพืชกระท่อมเพื่อสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ที่ได้รับการสนับสนุน จาก วช. เป็นการส่งเสริมให้ปลูกพืชสมุนไพร (กระท่อม) ที่ถูกต้องตามมาตรฐานแก่เกษตรกร และส่งเสริมการปลูกในระดับมาตรฐานการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ อาหารและยา โดยการนำผลิตภัณฑ์ จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องดื่มเข้มข้นจากสารสกัดใบพืชกระท่อมกลิ่นกาแฟ เพื่อส่งเสริมสุขภาพทำให้ร่างกายสดชื่น แคปซูลผงแกรนูลจากสารสกัดใบพืชกระท่อม เพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำตาลในเลือด และตำรับครีมเพื่อใช้บรรเทาอาการปวดข้อเข่า โดยขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และนำไปทดลองตลาด รวมทั้งผลักดันให้เกิดชุมชนต้นแบบในการเตรียมแปลงปลูกพืชกระท่อมที่มีมาตรฐานอย่างน้อย 1 ชุมชนต้นแบบ ทั้งด้านการเพาะปลูกตามระบบ GAP การเก็บเกี่ยวผลผลิต การขนส่งผลผลิตมาสู่โรงงานอุตสาหกรรม ขยายผลต่อในด้านการตลาดโดยมีเอกชนเป็นผู้รับผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้พัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์สมุนไพรพืชกระท่อมเพื่อสุขภาพ
ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการ “การบริหารจัดการพืชกระท่อม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดชุมพร” นำโดย ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ นอกจากนี้ คณะผู้บริหารหน่วยงาน นักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เยี่ยมชมแปลงกระท่อมต้นใหญ่ ในพื้นที่ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร และแปลงเพาะกล้าพันธุ์กระท่อม ในพื้นที่ตำบลท่าหิน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
การลงนามฯ ของหน่วยงานทั้ง 8 หน่วยงานครั้งนี้ ถือเป็นบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนและยกระดับการผลิตพืชกระท่อมสู่พืชเศรษฐกิจ ด้วยการนำองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปส่งเสริมสนับสนุน และผลักดันให้เกิดชุมชนต้นแบบที่มีความพร้อมและความสามารถในการผลิตพืชกระท่อมให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน สร้างรายได้และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน พร้อมทั้งต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดพืชกระท่อมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจร
ไม่มีความคิดเห็น: