วช. สนับสนุนงานวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่ม “เปลือกโกโก้” วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรสร้างรายได้ให้ชุมชน ภายใต้โครงการพื้นที่วิจัย CBR ภาคเหนือ
วันที่ 18 กันยายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้
นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช.
ประกอบด้วย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นายธานินทร์ ผะเอม และ นายสมบูรณ์ วงศ์กาด พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการดำเนินงานของโครงการวิจัย เรื่อง โครงการ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (เปลือกโกโก้) ของเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในพื้นที่จังหวัดตาก ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research : CBR) สร้างกลไกการใช้คนในท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่ายวิจัย และยกระดับผลิตภัณฑ์ ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โดย นางสวาท ไพศาลศิริทรัพย์ หัวหน้าโครงการวิจัย จาก วิทยาลัยชุมชนตาก คณะทีมนักวิจัย พร้อมด้วย นางสาวพรรณทิพย์ ชัยชนะ กรรมการสภาวิทยาลัยตาก ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์การเรียนรู้ทางภาษาด้วยตนเอง จังหวัดตาก
นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่พบได้ทั่วไปอย่างโกโก้ในพื้นที่จังหวัดตาก นั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก ตลอดจนการใช้ฐานจากการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่คำนึงถึงระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพต่อยอดไปสู่สินค้าเกษตรชีวภาพ ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยโครงการวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. กล่าวว่า ควรที่จะศึกษาในเรื่องของวัตถุดิบอาหารและสารอาหารเสริมในอาหารสัตว์เพื่อประกอบเป็นสูตรอาหารสำหรับสัตว์ให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือมีคุณค่าทางโภชนะที่เหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ ในเชิงวิชาการที่ต้องเพิ่มเติมให้กับชุมชนได้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้
นางสวาท ไพศาลศิริทรัพย์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากการดำเนินการงานของ โครงการ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (เปลือกโกโก้) ของเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในพื้นที่จังหวัดตาก นั้น ทีมนักวิจัยได้ศึกษาบริบทพื้นที่ เกษตรกรในพื้นที่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก พบว่าชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มเกษตรกรปลูกโกโก้เป็นจำนวนมาก เมื่อผลผลิตมากขึ้น จึงนำมาสู่จุดสำคัญที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออร์แกนิค ได้ร่วมกับทางคณาจารย์จากวิทยาลัยชุมชนตาก ในการพัฒนานวัตกรรม และแนวทางการแปรรูป การพัฒนาช่องทางการตลาด เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยผสมผสานกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research) มุ่งพัฒนาทางเลือกหรือวิธีการใหม่ ๆ ในการยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน ด้านการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาใช้ประโยชน์ โดยมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการปลูกโกโก้สายพันธุ์ M1 มีพื้นที่การปลูกกระจายอยู่หลายแห่ง ปลูกมากที่อำเภอพบพระ และนิยมปลูกเป็นพืชแซมกับพืชเศรษฐกิจอื่น ปัจจุบันในพื้นที่ยังไม่มีการนำเปลือกโกโก้มาใช้ประโยชน์ และขยะถูกทิ้งเป็นขยะมีปริมาณสูงขึ้น จึงได้คิดค้นวิธีการที่จะรับมือกับปัญหาเปลือกโกโก้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจะทำอย่างไรให้มูลค่าเพิ่มขึ้นมา โดยนำเปลือกโกโก้มาแปรรูปได้ 3 รูปแบบ ดังนี้ 1.อาหารสัตว์ 2.ดินปลูก และ 3.ถ่านไบโอชาร์ (Biochar) จากผลการพัฒนาถ่ายทอดรูปแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเปลือกโกโก้ ไปสู่การใช้ชีวิตแบบ Zero Waste คือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมาชิกวิสาหกิจชุมชนออร์แกนิกร่วมทำการวิจัยและทดลอง
นำเปลือกโกโก้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงโค เมื่อเทียบอาหารสัตว์สำเร็จรูปในท้องตลาดและเมื่อเทียบอัตราการเจริญเติบโตกับโคพื้นเมืองเพศผู้ อายุ 2 – 3 ปี น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม จำนวน 5 ตัว แสดงให้เห็นว่าคุณภาพอาหารที่ใช้ต่อโคทั้ง 2 กลุ่ม มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดรายจ่ายในครอบครัวเรือน ไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจ หมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเหลือใช้ทางการเกษตรหรือของเสียให้เป็นแหล่งรายได้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
นายปรเมธ แสงรุ่งโรจน์ทวี ผู้ผลิตดินปลูก ตราดินดี 5 ดาว กล่าวว่า เปลือกโกโก้มีธาตุอาหารของพืชที่เหมาะสมเหมาะสำหรับการทำปุ๋ยเพื่อการเกษตร นับเป็นการนำเปลือกโกโก้ที่เหลือทิ้งในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้แก่ชุมชน ถือได้ว่าโครงการวิจัยนั้นเป็นจุดเริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ แต่จะเป็นการทดลองที่ช่วยขยายผลไปสู่การพัฒนาและสร้างรายได้ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้อย่างสูงสุด ทั้งนี้ท่านใดสนใจ ปุ๋ยตราดินดี 5 ดาว ที่ทำจากเปลือกโกโก้ สามารถติดต่อได้ที่ เบอร์ 0843803383
ทั้งนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออร์แกนิค บ้านห้วยนกแล หมู่ที่ 9 ตำบลช่องแคบ อำเภอ พบพระ จังหวัดตาก เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจออร์แกนิค บ้านห้วยนกแล และได้เยี่ยมชมกิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโกโก้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของที่นี่ ได้แก่ ผงโกโก้ โกโก้แมส โกโก้บัสเตอร์ และลิปบาล์มโกโก้ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก โดยคณะได้เดินทางต่อไปยังสวนโกโก้ ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด เพื่อศึกษาดูกระบวนการผลิตและการเก็บผลผลิตโกโก้
และได้เดินทางต่อมายังสถานที่โรงผลิตปุ๋ยเพื่อศึกษาถึงกระบวนการแปรรูปปุ๋ยจากเปลือกโกโก้
ไม่มีความคิดเห็น: